ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม

ช่วยค้นหาศัพท์และนิยามศัพท์วิชาการในสาขาการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และสถิติ โดยคณะทำงานนิยามศัพท์ฯ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

คำนำบันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2558บันทึกการทําศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม ฉบับปี 2547

search

a | b | c | d | e | f | g | h | i | j | k | l | m | n | o | p | q | r | s | t | u | v | w | x | y | z |

| | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | | |
 

active ageing index (AAI)

ดัชนีการสูงวัยอย่างมีพลัง (เอเอไอ)

ตัวชี้วัดระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน 

ดัชนีการสูงวัยอย่างมีพลัง เป็นเครื่องมือที่องค์การอนามัยโลกได้พัฒนาขึ้น เพื่อใช้วัดคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุใน 4 ด้าน โดยแบ่งเป็นตัวชี้วัด 22 ตัว ได้แก่

  1. ด้านการมีงานทำ (employment) ประกอบด้วยตัวชี้วัดเรื่อง
    1. การมีงานทำของผู้ที่มี อายุ 55-59 ปี
    2. การมีงานทำของผู้ที่มี อายุ 60-64 ปี
    3. การมีงานทำของผู้ที่มี อายุ 65-69 ปี
    4. การมีงานทำของผู้ที่มี อายุ 70-74 ปี
  2. การมีส่วนร่วมในสังคม (participation in society) ประกอบด้วยตัวชี้วัดเรื่อง
    1. การทำกิจกรรมอาสาสมัคร
    2. การดูแลบุตรหลานในครัวเรือน
    3. การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือน
    4. การมีส่วนร่วมทางการเมือง
  3. การไม่พึ่งพาใคร มีสุขภาพดี ชีวีปลอดภัย (independent, healthy and secure living) ประกอบด้วยตัวชี้วัดเรื่อง
    1. การออกกําลังกาย
    2. การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
    3. การพึ่งพิง
    4. ความมั่นคงทางรายได้ (มี 3 ตัวชี้วัด)
    5. ความปลอดภัยทางกายภาพ
    6. การเรียนรู้ตลอดชีวิต
  4. ความสามารถและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีพลัง (capacity and enabling environment for active ageing) ประกอบด้วยตัวชี้วัดเรื่อง
    1. อายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 55 ปี
    2. อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีที่อายุ 55 ปี
    3. สุขภาพจิต
    4. การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
    5. ความรู้สึกผูกพันทางสังคม (social connectedness)
    6. ระดับการศึกษาของผู้สูงอายุ

ดัชนีนี้ มีค่าระหว่าง 0-100 ค่าดัชนียิ่งสูง หมายถึง การมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ

ดัชนีการสูงวัยอย่างมีพลัง เป็นดัชนีที่มีความยืดหยุ่น หลากหลายประเทศได้นำไปปรับใช้ในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือท้องถิ่นขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีอยู่ แต่ยังคงยึดกรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก

ประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้นำดัชนีการสูงวัยอย่างมีพลังมาปรับใช้ เรียกว่า “ดัชนีพฤฒิพลัง” ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านสุขภาพ ประกอบด้วย การประเมินสุขภาพกายของตนเอง สุขภาพจิต  ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและการเคลื่อนไหว การมองเห็น การได้ยิน และการออกกําลังกาย
  2. ด้านการมีส่วนร่วม ประกอบด้วย การมีงานทำ การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม/ชมรมผู้สูงอายุ  การเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน/ชุมชน และการดูแลบุคคลในครัวเรือน
  3. ด้านความมั่นคง ประกอบด้วย ความเพียงพอของรายได้ การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ลักษณะการอยู่อาศัย  และสภาพการอยู่อาศัยที่ปลอดภัย
  4. ด้านสภาพที่เอื้อต่อการสูงวัยอย่างมีพลัง ประกอบด้วย การมีการใช้อุปกรณ์ไอที และการอ่านออกเขียนได้

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 21/4/2566

ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม www.popterms.mahidol.ac.th
Copyright © Institute for Population and Social Research, Mahidol University
webmaster : prwww@mahidol.ac.th
Revised: Year 2015